นักเปียโนและช่างภาพ Go Yojin สำรวจเสน่ห์ของฟิล์ม 110 ด้วยกล้อง Lomomatic 110

นักเปียโนและช่างภาพ Go Yojin แบ่งปันประสบการณ์การถ่ายภาพด้วยกล้อง Lomomatic 110 เธอถ่ายทอดเอกลักษณ์เฉพาะตัวของ Lomomatic 110 และเสน่ห์อันน่าหลงใหลของฟอร์แมตฟิล์ม 110 ได้อย่างมีชีวิตชีวา

© Go Yojin | Lomomatic 110 | Color Tiger 200

สวัสดีค่ะ ช่วยแนะนำตัวให้ผู้อ่านของเรารู้จักหน่อย

สวัสดีค่ะ ฉันคือ Go Yojin เป็นนักเปียโนและช่างภาพ ฉันเรียนด้านดนตรีในมหาวิทยาลัย แต่ต้องการเพิ่มมิติใหม่ให้กับสิ่งที่ฉันรัก จึงหันมาสนใจการถ่ายภาพ ซึ่งเป็นสิ่งที่ฉันหลงใหลมาโดยตลอด ก่อนหน้านี้ ฉันมักพกกล้องคอมแพกต์ติดตัวและถ่ายรูปเพื่อน ๆ เป็นหลัก แต่ในช่วงสองปีที่ผ่านมา ฉันเริ่มจริงจังกับการถ่ายภาพมากขึ้น

อะไรเป็นแรงบันดาลใจให้คุณก้าวเข้าสู่โลกของการถ่ายภาพฟิล์ม

ในตอนแรก ฉันไม่ได้มีเหตุผลที่ซับซ้อนนัก ฉันแค่ชื่นชมและหลงใหลในผลลัพธ์ของภาพถ่ายฟิล์ม ทั้งสีสันที่ดูวินเทจและภาพที่ออกมาเป็นเอกลักษณ์ ฉันเคยลองใช้วิธีต่าง ๆ ที่พบทางออนไลน์เพื่อเลียนแบบฟิล์มในภาพถ่ายดิจิทัล เช่น การใส่ฟิลเตอร์และเกรน แต่ก็ยังรู้สึกว่ามันไม่เหมือนกับภาพที่ถ่ายด้วยฟิล์มจริง ๆ สุดท้ายฉันจึงตัดสินใจซื้อกล้องฟิล์ม พอยิ่งได้ชมผลงานของช่างภาพที่ฉันชื่นชอบมากขึ้น ฉันก็ยิ่งรู้สึกอยากดำดิ่งสู่โลกของการถ่ายภาพฟิล์มมากขึ้นไปอีก

© Go Yojin | Lomomatic 110 | Color Tiger 200

คุณชอบอะไรในกล้อง Lomomatic 110 บ้าง

ในบรรดาข้อดีมากมายของ Lomomatic 110 สิ่งที่ฉันชอบที่สุดคือดีไซน์ที่กะทัดรัดและน้ำหนักเบา ในยุคที่สมาร์ตโฟนทำให้การพกพา ถ่ายภาพ เก็บไฟล์ และแชร์เป็นเรื่องง่าย ความสะดวกในการพกพากล้องจึงเป็นปัจจัยสำคัญ ด้วยเหตุนี้ ฉันให้คะแนนกล้องตัวนี้สูงมากเลยทีเดียว

อะไรทำให้ฟอร์แมต 110 พิเศษกว่าฟอร์แมตอื่น ๆ

ตอนที่ฉันได้รับฟิล์มเนกาทีฟกลับมาหลังจากสแกน ฉันสังเกตว่ามันมีขนาดเล็กกว่าฟิล์ม 35 มม. มาก หากเปรียบเทียบกับโลกดิจิทัล มันเหมือนการเปรียบเทียบระหว่างเซ็นเซอร์ฟูลเฟรมกับเซ็นเซอร์ขนาด 1 นิ้ว ฉันประหลาดใจมากที่ฟิล์มเล็กแบบนี้สามารถสร้างสรรค์ภาพที่น่าประทับใจได้ ความคิดที่ว่า "ขนาดเล็กไม่ได้หมายถึงด้อยกว่า" เป็นเรื่องจริง และฉันคิดว่านี่เองที่ทำให้กล้องพิเศษอย่าง Lomomatic 110 ถือกำเนิดขึ้นมา

© Go Yojin | Lomomatic 110 | Color Tiger 200

ฉันยังชอบหนามเตยบนฟิล์ม 110 มากเช่นกัน มันช่วยขับเน้นเสน่ห์เฉพาะตัวของฟิล์ม ทำให้ฉันอยากเก็บช่วงเวลาสำคัญในฟอร์แมต 110 แม้ว่าฉากตรงหน้าจะไม่ได้สวยงามอลังการก็ตาม เวลาผ่านไปกว่าสองสัปดาห์แล้วนับตั้งแต่ฉันถ่ายภาพเสร็จ แต่ฉันยังคงนึกถึงช่วงเวลาที่อยากให้ถูกบันทึกผ่านฟิล์มฟอร์แมต 110 อยู่เสมอ

คุณช่วยแชร์ภาพโปรดกับพวกเราหน่อย

ภาพแรกที่ฉันชอบมากคือภาพที่ถ่ายด้วยฟิล์ม Color Tiger ที่ชายหาด Dadaepo เป็นภาพด้านหลังของชายสูงวัยคนหนึ่ง ขณะที่ดวงอาทิตย์ค่อย ๆ ลับขอบฟ้า แสงแดดระยิบระยับกระจายไปทั่ว ทอประกายสะท้อนบนพื้นโคลนจนเกิดเป็นภาพที่งดงามจนน่าตะลึง ในขณะที่ฉันยกกล้องขึ้นเพื่อบันทึกภาพทิวทัศน์นี้ ชายสูงวัยคนนั้นก็เดินเข้ามาอยู่ในเฟรม กลายเป็นตัวเอกของช่วงเวลานั้นโดยบังเอิญ

เมื่อฉันมองดูเขาที่กำลังตั้งใจถ่ายภาพของตัวเอง ฉันอดคิดไม่ได้ว่า ไม่ว่าอายุจะมากแค่ไหน ตัวละครหลักในชีวิตของฉันก็คือ ‘ตัวฉันเอง’ เสมอ ฉันกดชัตเตอร์ด้วยหัวใจที่เต็มไปด้วยกำลังใจ และแอบคิดกับตัวเองว่า ‘สักวันหนึ่ง ถ้าฉันยังคงมีความหลงใหลในการถ่ายภาพเหมือนในตอนนี้ ไม่แน่ว่าฉันอาจจะดูเป็นแบบนั้นก็ได้’

© Go Yojin | Lomomatic 110 | Color Tiger 200

ภาพที่สองเลือกยากกว่ามาก เพราะฉันมีหลายตัวเลือกจากภาพที่ถ่ายด้วยฟิล์ม B&W Orca แต่สุดท้ายฉันเลือกภาพที่ถ่ายกับนางแบบบนรถไฟ ตอนนั้นฉันคิดว่า ถ้าถ่ายอย่างระมัดระวัง ภาพก็คงจะออกมาคมชัด เพราะรถไฟไม่ได้สั่นมากนัก แต่ผลลัพธ์กลับออกมาเบลอกว่าที่คาดไว้มาก

ในวันนั้น ระหว่างพักจากการถ่ายภาพ เราคุยกันสั้น ๆ เกี่ยวกับช่วงเวลาของความไม่มั่นคงที่ศิลปินต้องเผชิญอยู่เสมอ และภาพนี้ก็ให้ความรู้สึกเหมือนเป็นภาพแทนบทสนทนานั้น ตอนแรกฉันรู้สึกผิดหวังเล็กน้อย เพราะภาพออกมาไม่เป็นอย่างที่ตั้งใจ แต่พอได้มองมันอีกครั้ง กลับรู้สึกว่ามันพิเศษขึ้นมา มันดูเหมือนเป็นตัวแทนของ ‘สภาวะของเราตอนนี้’ อย่างตรงไปตรงมา ไม่มีการปรุงแต่งใด ๆ

ฉันคิดว่าตัวเองเริ่มรู้สึกผูกพันกับมันขึ้นมานิดหน่อย เพราะสุดท้ายแล้ว ความหมายของภาพถ่ายก็คือสิ่งที่เรามอบให้มันนั่นเอง

© Go Yojin | Lomomatic 110 | Orca 110 | Model: Baek Hanna

คุณคิดว่าอนาคตของฟิล์ม 110 จะเป็นอย่างไร

ในโลกปัจจุบันที่การถ่ายภาพด้วยสมาร์ตโฟนครองตลาด คำถามเกี่ยวกับอนาคตของฟิล์ม โดยเฉพาะฟิล์ม 110 ซึ่งถือว่าเป็นฟอร์แมตเฉพาะกลุ่ม อาจฟังดูยากที่จะตอบ แต่เมื่อพิจารณาถึงความจริงที่ว่าแนวคิดของคำว่า ‘วินเทจ’ ไม่เคยเลือนหายไป คำถามนี้อาจไม่ได้ยากอย่างที่คิด

ตั้งแต่บริษัทกล้องไปจนถึงศิลปินอิสระ ต่างยังคงวิจัยและให้ความสนใจในการสร้าง ‘ลุคแบบฟิล์ม’ อยู่เสมอ นั่นทำให้ฉันเชื่อว่าเสน่ห์เฉพาะตัวของฟิล์ม 110 ยังคงแข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม ฉันคิดว่าสิ่งสำคัญคือการทำให้มีคนรู้จักฟิล์ม 110 มากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่อาจไม่ได้มองว่าการถ่ายภาพเป็นทักษะหรือเป็นงานอดิเรก แต่เป็นคนทั่วไปในวงกว้าง สำหรับฉันเอง นี่เป็นครั้งแรกที่ได้รู้จักฟอร์แมต 110 ดังนั้นฉันคิดว่ามันควรเป็นที่รู้จักมากขึ้น เหมือนกับที่ฟิล์ม 35 มม. เคยเป็น

© Go Yojin | Lomomatic 110 | Orca 110 | Model: Baek Hanna

คุณจะบรรยายกล้อง Lomomatic 110 ในสามคำว่าอย่างไร

สวย, ทรงพลัง, น้ำหนักเบา!

คุณมีเคล็ดลับการถ่ายภาพสำหรับคนที่อยากทดลองใช้ Lomomatic 110 ไหม

ส่วนใหญ่แล้ว เมื่อคนส่วนใหญ่ได้กล้องใหม่ มักจะให้ความสำคัญกับการโฟกัสของภาพเป็นหลัก แต่เมื่อคุณถ่ายภาพในลักษณะเดียวกันไปเรื่อย ๆ ด้วยวิธีการเดียวกัน ขั้นตอนถัดไปจะค่อย ๆ ปรากฏขึ้นมาเอง และจะมีเวลาที่สไตล์การถ่ายภาพเก่าของคุณจะมีประโยชน์ เมื่อคุณเริ่มขยายขอบเขตการถ่ายภาพให้หลากหลายขึ้น คุณจะรู้เลยว่ากล้องน้ำหนักเบานี้สามารถมอบความสนุกให้คุณได้มากแค่ไหน

© Go Yojin | Lomomatic 110 | Orca 110

Lomomatic 110 เป็นกล้องที่ออกแบบมาอย่างดีเพื่อให้ผู้ใช้สามารถสร้างสรรค์ภาพที่ต้องการได้ คุณสมบัติที่น่าสนใจ เช่น ฟังก์ชันการถ่ายซ้อน ความสามารถในการเปลี่ยนฟิล์มระหว่างม้วน และตัวเลือกในการเลือกการตั้งค่ารูรับแสงสำหรับกลางวัน/กลางคืน พร้อมการปรับแฟลชที่สอดคล้องกัน ทำให้กล้องรุ่นนี้น่าประทับใจมาก นี่คือเหตุผลที่ทำให้ฉันเรียกมันว่าเป็น 'กล้องทรงพลัง' แต่ก็หมายความว่า ผู้ใช้ต้องพิจารณาหลายปัจจัยเช่นกัน

สำหรับตัวฉันเอง ฉันเคยชินกับการใช้กล้องดิจิทัล ดังนั้นในช่วงแรกที่พยายามประเมินระยะโฟกัสและตั้งใจจะถ่ายภาพให้โฟกัสได้ถูกต้อง ฉันมักจะพลาดในหลายแง่มุม ถเพื่อให้ชินกับการใช้งาน ฉันแนะนำให้คุณตัดสินใจก่อนว่าภาพที่กำลังจะถ่ายเป็นการถ่ายภาพวิวทิวทัศน์หรือภาพบุคคล จากนั้นจำกัดตัวเองให้เลือกใช้เงื่อนไขการถ่ายภาพเดียว (เช่น บ่ายแดดจ้า หรือยามค่ำคืนที่มืด) เมื่อเวลาผ่านไปคุณจะเริ่มรู้สึกถึงมันเอง

‘มีความผิดพลาดที่สามารถให้อภัยได้ เพราะมันคือฟิล์ม’ เป็นคำพูดที่เรามักจะพูดเล่นกันในหมู่ช่างภาพ ความบังเอิญเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้บางครั้งก็ทำให้ได้ผลลัพธ์ที่น่าสนใจ สุดท้ายแล้ว เคล็ดลับการถ่ายภาพอาจจะง่าย ๆ แค่ ‘ตั้งใจสนุกกับการถ่าย!’

© Go Yojin | Lomomatic 110 | Orca 110

สุดท้ายแล้วมีอะไรอยากแชร์กับพวกเราไหม

เรากำลังอยู่ในยุคที่คอนเทนต์ยาว ๆ กำลังถูกเบี่ยงเบนไป ฟิล์มถ่ายภาพในแง่ของกระบวนการสามารถถือได้ว่าเป็นงานที่ค่อนข้างใช้เวลานาน ราคาฟิล์มพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก และบางครั้งมันก็ไม่ง่ายที่จะหาฟิล์มที่ต้องการ แต่แปลกที่ความต้องการในการใช้ฟิล์มกลับไม่ลดลงเลย ซึ่งก็เห็นได้จากความหลากหลายของกล้องฟิล์มที่วางจำหน่ายในปีนี้ในฟอร์แมตต่าง ๆ และในหมู่กล้องเหล่านั้น Lomomatic 110 ด้วยฟอร์แมตที่มีเอกลักษณ์และน่าหลงใหล ดูเหมือนว่าจะมอบจังหวะที่พอดีให้กับเรา ในขณะที่มันสามารถใส่ในกระเป๋าเสื้อได้พอดีเหมือนกับกล้องคอมแพกต์เก่า ๆ แต่ประสบการณ์การถ่ายภาพของมันก็จริงไม่แพ้กล้องฟิล์มตัวอื่น ๆ

ในโลกปัจจุบันที่ภาพส่วนใหญ่อาจจะได้ดูกันผ่านอุปกรณ์มือถือ การพิสูจน์ว่าฟิล์มขนาดเล็กและกล้องขนาดกะทัดรัดสามารถให้ผลลัพธ์ที่มีคุณค่าได้ถือว่าเป็นเรื่องที่มีความหมาย ในระหว่างการถ่ายภาพครั้งนี้ ฉันจินตนาการถึงกล้อง Lomomatic รุ่นใหม่ที่อาจจะมีระยะโฟกัสต่างกัน ซึ่งทำให้ฉันรู้สึกตื่นเต้น และสงสัยว่าทาง Lomography กำลังพิจารณาเรื่องนี้อยู่หรือเปล่า ฉันจริง ๆ แล้วตั้งตารอที่จะได้เห็นความหลากหลายของ Lomomatic ในอนาคต! ขอบคุณที่ทำให้ฉันได้กลับมาสัมผัสความสุขในการถ่ายภาพอีกครั้งค่ะ

---

ขอขอบคุณ Go Yojin ที่ได้แบ่งปันเสน่ห์และความรู้สึกหลังจากที่ได้ทดลองใช้กล้อง Lomomatic 110 และฟิล์มฟอร์แมต 110 กับพวกเรา หากคุณอยากชมผลงานเพิ่มเติมของเธอ สามารถติดตามได้ที่ Instagram

เขียนโดย hey_springtime เมื่อ 2025-02-25 ในหมวด #gear #ผู้คน

Lomography Color Tiger  200 (110)

ความงดงามแห่งสีสันของฟิล์มสีจาก Lomography ที่แม้จะมาในขนาดเล็กของฟิล์ม 110 แต่ก็ให้คุณภาพเกินตัว

บทความที่น่าสนใจอื่นๆ