Analogue Manipulation: ชุดภาพถ่ายทดลองจากกล้อง Lomo'Instant Square Glass โดยคุณเจ๋ (_______ja_y)

วันนี้เราจะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับคุณเจ๋ (_______ja_y) ผ่านภาพถ่ายจากกล้อง Lomo'Instant Square Glass กัน! ซึ่งภาพชุดนี้ผ่านการทำ film manipulation ด้วยวิธีการสนุกๆ ไม่ว่าจะเป็นการขยำ การขูดขีด หรือการทำฟิล์มซุป จนเกิดความน่าสนใจและแฝงไปด้วยการสื่อสารทางศิลปะที่มีเอกลักษณ์

ถ้าใครอยากเริ่มต้นทำทำการทดลองสนุกๆ เตรียมกล้อง Instant คู่ใจให้พร้อม แล้วมาหาแรงบันดาลใจจากคุณเจ๋ผ่านบทความนี้กันได้เลย! : )


  • สวัสดีค่ะคุณเจ๋ แนะนำตัวให้ชาวโลโม่รู้จักหน่อยค่ะ

สวัสดีค่ะ เจ๋นะคะ อายุ 22 ปี ตอนนี้กำลังทำงานฟรีแลนซ์กราฟิก และเป็นเจ้าของร้านขายสติกเกอร์เกี่ยวกับ social issues ในชื่อแบรนด์ Roger Major Tom เพิ่งเริ่มเข้าวงการโลโม่เมื่อไม่กี่ปีมานี้ ยังเป็นชาวโลโม่วัยเตาะแตะที่อยากทำความรู้จักและค้นหาการถ่ายภาพแบบอนาล็อกหลากหลายแบบเท่าที่จะทำได้ค่า

  • อยากให้เล่าจุดเริ่มต้นในการถ่ายภาพให้ฟังหน่อยค่ะ

เรามีงานอดิเรกเป็นการถ่ายภาพมาตั้งแต่ตอนมัธยมต้น เพราะคุณพ่อมีกล้อง dslr ตัวเก่าอยู่ตัวหนึ่ง เลยชอบเอามาลองใช้ถ่ายนั่นนี่ไปเรื่อยอยู่บ่อยๆ พอรู้ตัวอีกทีก็กลายเป็นว่าชอบถ่ายภาพไปแล้ว จนค่อยๆ ขยับมาอยู่ชมรมถ่ายภาพ ก็มีคุณครูให้เราไปถ่ายรูปตามงานโรงเรียน บางครั้งถ่ายภาพเล่นมาลงในโซเชียลก็มีคนชอบ เราเลยดีใจจนทำให้เริ่มขวนขวายการถ่ายภาพมากขึ้นมาตั้งแต่ตอนนั้นค่ะ จริงๆ มีช่วงที่หยุดถ่ายภาพไปตอนมัธยมปลาย เมื่อปี 2020 เพิ่งกลับมาจับกล้องอีกครั้ง เหมือนเป็นจุดเริ่มต้นในโลกถ่ายภาพครั้งใหม่อีกรอบกับกล้องอนาล็อกค่ะ

ตอนแรกบังเอิญไปเห็นภาพผลลัพธ์ของฟิล์มซุปแบบฟิล์ม 35mm มาก่อนในเน็ต ตอนนั้นเรายังไม่ได้เริ่มใช้กล้องฟิล์มตัวไหนมาก่อนเลย ยังเคยใช้แค่กล้องดิจิทัลแบบ dslr ทำให้ตอนนั้นเรารู้สึกว้าวมากเพราะไม่เคยรู้มาก่อนว่าในการถ่ายภาพเราสามารถทำแบบนี้ได้โดยที่ไม่ต้องใช้โปรแกรมอะไรเลย ผลลัพธ์มันสวยแล้วก็เป็นเอกลักษณ์มาก จากนั้นเลยลองไปค้นหาดู ทำให้เปิดโลกการถ่ายภาพเราเลยว่าการถ่ายภาพมันสามารถทำได้หลากหลายแบบมากๆ แล้วก็ไม่ตายตัวเลย เพราะก่อนหน้าเรามีภาพจำว่าการถ่ายภาพคือภาพสแนปจากความจริง แต่พอได้รู้จัก alternative photography เลยทำให้รู้ว่าแม้แต่การถ่ายภาพเองมันก็ออกมาในแบบนามธรรมได้ คือไม่จำเป็นต้องเห็นรูปร่างภาพอะไรชัดเจนตรงกับความเป็นจริง จะพูดแบบอีกอย่างก็ได้ว่าการถ่ายภาพนั้นคือการสร้างภาพขึ้นมาให้มันเป็นภาพถ่ายได้เหมือนกัน

ตอนนั้นพอได้รู้จักเราเลยอยากลองด้วยตัวเองมากๆ เลยค่ะ แต่ยังไม่มีกล้องอะไรเลย คิดอยู่นานมากว่าจะซื้ออะไรดี สุดท้ายเสียงในหัวก็บอกว่าอยากถ่าย instant film เพราะราคาฟิล์ม 35mm ในตลาดตอนนี้ค่อนข้างแพงลิ่ว แถมบวกกับค่าล้างแล้วก็จุกเอาเรื่อง อยากถ่าย instant film มานานมากแล้วด้วย ตอนเด็กๆ ใครๆ ก็มี เอามาถ่ายรูปกันตอนวันปัจฉิมอะไรแบบนี้ อิจฉาคนอื่นมาตลอดเลย สีมันสวยกว่าสีกล้องดิจิทัลสำหรับเรา มันก็ชนกับโจทย์ของเราว่าอยากทำ film manipulation ตอนนั้นเลยไปหาว่าถ้าใช้ instant film มันจะทำอะไรได้บ้าง เลยเจอช่องยูทูป Analog Things กับ srad เค้าทำ emulsion lifting กับพูดถึงคุณสมบัติของตัว instant film ที่มีผลกับอุณหภูมิยังไงบ้างเลยสนใจมาก ตอนนั้นเลยหลุดไปอยู่ในรูหนอนยูทูปพักนึง โชคดีมากที่ไปเจอช่องของ Mike Doukas ก่อนหน้านี้เราคิดว่าเราไม่น่าจะทำ emulsion lifting ได้ เพราะไม่มีอุปกรณ์กับพื้นที่ที่สะดวกให้ลองทำ แต่พอเจอคลิปจากช่องนี้มันเป็นวิธีง่ายๆ อย่างการขูดขีด กับได้คีย์เวิร์ดของเทคนิคต่างๆ เลยค้นพบว่า instant film ก็ทำอะไรได้ตั้งหลายอย่างที่พิเศษกว่าแค่การถ่ายแล้วได้ฟิล์มเลยทันที

พอไปเจอกล้อง Lomo’Instant Square Glass เหมือนเจอคนตรงสเปคเรา เพราะตั้งใจว่าจะลองเอามาใช้กับการถ่ายภาพที่สามารถทดลองได้ในแบบอนาล็อกโดยเฉพาะเลย ครั้งแรกที่เริ่มทำ manipulation เราลองใช้วิธีการง่ายๆ ขีดๆ แบบคลิปที่ดู พอเราทดลองไปเรื่อยๆ หลายๆ ใบด้วยวิธีที่ดูตามยูทูป สักพักอยากเจอวิธีใหม่ๆ เริ่มส่องงานภาพถ่ายแนว manipulation ก็เห็นภาพแปลกๆ เยอะมากเลยค่ะ หลายภาพเจ้าของไม่ค่อยบอกว่าทำยังไง เราก็พยายามสังเกตว่าภาพไหนน่าจะใช้วิธีอะไร ศึกษาว่าตัวฟิล์มที่ใช้มันประกอบไปด้วยอะไรบ้าง มีคุณสมบัติอะไรยังไง จนถึงจุดนึงทำให้เราดูออกว่าภาพไหนน่าจะทำยังไงเลยลองค้นหาไปเรื่อยด้วยตัวเองดูค่ะว่าที่เราคิดมันถูกไหม 555

  • ชุดภาพของคุณเจ๋มีหลากหลายเทคนิคมาก จริงๆ แล้วชอบแบบไหนมากที่สุดคะ
ชอบ manipulation ด้วยการพับหรือขยำที่สุดค่ะ เวลาทำมันทำง่าย ทำได้เลยในทันที แล้วก็ทำให้คนอื่นงงดีว่ามันทำอะไรของมันด้วย แล้วก็ชอบฟิล์มซุปที่สุดค่ะ ซุปกับพวกของเหลวที่มีกรดเยอะๆ
  • คุณเจ๋มีวิธีทำ Instant film manipulation ง่ายๆ ที่อยากให้ทุกคนลองทำตามดูมั้ยคะ
ทุกคนสามารถขยำ instant film หลังถ่ายภาพเสร็จในทันทีแล้วกำเอาไว้สักครู่ หรือจะลองพับตัว instant film แล้วรูดกรีดที่รอยพับซ้ำๆ ก็ได้ค่ะ ถ้ามีอุปกรณ์ใกล้ตัวอาจจะลองสร้างสรรค์ด้วยตัวเองทำอะไรก็ได้โดยให้เกิดแรง หรือการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิกับตัว instant film เช่น นำดินสอ/ปากกามาวาดภาพที่ตัวด้านหลังฟิล์ม กุญแจสำคัญคือขั้นตอน manipulation เหล่านี้ต้องทำขณะที่ตัว instant film กำลังเพิ่ง developing ภาพถ่ายนั่นเองค่ะ
  • อยากให้เลือกภาพที่ชอบที่สุดจากกล้อง Lomo’Instant Square Glass และเล่าเรื่องจากภาพนั้นหน่อยค่ะ

ชอบภาพแมวในห้องนอนใบนี้ค่ะ เป็นภาพแรกๆ ที่ลองถ่ายด้วยกล้องโลโม่ตัวนี้ พร้อมกับลองทำ manipulation ด้วยความที่มันเป็นกล้องอนาล็อกที่กะระยะโฟกัสยากมาก แล้วเราไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อนเลย เวลาถ่ายทีเราจะกังวลมากว่ามันจะออกมาดีไหม จนบางทีก็แอบมีน้ำตาร่วงที่ถ่ายพลาดเยอะ ราคาฟิล์มก็ไม่ใช่น้อยๆ 555 เราเลยคิดว่าถ้าเราเลือกถ่ายอะไรที่ส่วนตัวๆ หน่อยอาจจะไม่เสียดายมาก อย่างน้อยมันก็ยังมีเรื่องอะไรสักอย่างกับฟิล์มใบที่ถ่ายออกมาแน่ๆ แล้วเราก็จะได้ทดลอง manipulation แบบสบายใจด้วย เพราะถ้าไปถ่ายภาพบุคคล บางคนอาจจะไม่พอใจแล้วมองว่าไม่สวยก็ได้

  • ถ้าเลือกเพลงได้ 1 เพลงที่คิดว่าเหมาะกับภาพชุดนี้ จะเลือกเพลงไหนคะ

Self-Help Tape ของ Moses Sumney ค่ะ

  • มีเทคนิค film manipulation แบบไหนที่อยากทดลองทำในอนาคตอีกมั้ยคะ

มีเยอะมากเลยค่ะ หลักๆ อยากลองอบดู ที่ผ่านมาไม่เคยทำสำเร็จ เพราะใช้ไมโครเวฟแล้วไฟลุกก่อนตลอดเลย ซึ่งมันค่อนข้างอันตรายมาก แล้วก็อยากลองซุปกับสารเคมีแปลกๆ ที่ไม่มีตามบ้านดูค่ะ

  • สุดท้ายแล้ว คุณเจ๋มีโปรเจกต์อะไรให้เราติดตามเร็วๆ นี้อีกมั้ยคะ

ในเร็วๆ นี้ถ้ามีโอกาสได้ไปเที่ยวก็อยากทำ manipulation รูป landscape ต่างๆ ดูค่ะ ตอนนี้เพิ่งมีโอกาสได้ลองฟิล์ม 110 ด้วยแต่ยังถ่ายไม่หมดค่ะ อยากเล่นพิเรนทร์กับน้องอยู่ด้วยเหมือนกัน 555


ขอบคุณคุณเจ๋ที่มาแชร์ประสบการณ์พร้อมภาพถ่ายสวยๆ กับเราด้วนนะคะ : )
สำหรับใครที่สนใจอยากติดตามผลงานของคุณเจ๋เพิ่มเติม สามารถติดตามได้ที่ IG: @_______ja_y และ @jaykchr

เขียนโดย aomschll เมื่อ 2022-04-20 ในหมวด #ผู้คน #film-soup #film-manipulate

บทความที่น่าสนใจอื่นๆ