LomoAmigo: เจาะลึกเบื้องหลังการถ่ายภาพงานสถาปัตยกรรมด้วยกล้อง Large Format จากคุณเด๋ย แห่ง Spaceshift Studio

ถ้าให้พูดถึงสตูดิโอถ่ายภาพงานสถาปัตยกรรมในเมืองไทย Spaceshift Studio คงเป็นชื่อที่อยู่ในใจของใครหลายคน โดยผลงานการถ่ายภาพงานสถาปัตยกรรมที่ทุกคนเคยเห็นนั้น ถ่ายทอดโดยช่างภาพมากประสบการณ์อย่างคุณเด๋ย ภิรักษ์ อนุรักษ์เยาวชน อดีตบรรณาธิการภาพนิตยสาร Art4D ที่น่าสนใจคือ ภาพส่วนใหญ่ของคุณเด๋ยที่ถ่ายให้กับนิตยสาร จะถูกบันทึกด้วยกล้อง Large Format ใครที่กำลังสนใจการถ่ายภาพแนวสถาปัตยกรรม หรือเพิ่งเริ่มต้นใช้กล้องฟิล์ม เชิญติดตามแนวคิด เรื่องราว และร่วมค้นหาแรงบันดาลจากคุณเด๋ย ได้จากบทสัมภาษณ์ที่เรานำมาฝากกันได้เลย

- สวัสดีค่ะ แนะนำตัวให้ชาวโลโม่ได้รู้จักหน่อยค่ะ

สวัสดีครับ ผมชื่อภิรักษ์ อนุรักษ์เยาวชน อายุ 46 ปี อาชีพช่างภาพสถาปัตยกรรม มีสตูดิโอเล็กๆชื่อสเปซชิฟต์ (Spaceshift Studio) รับถ่ายภาพงานสถาปัตยกรรมเป็นอาชีพมาตั้งแต่ปีค.ศ. 2005 ผมเรียนจบจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เคยทำงานเป็นสถาปนิก บังเอิญว่าพอเขียนหนังสือ และถ่ายรูปได้ ก็เลยมีโอกาสเปลี่ยนแนวมาทำงานที่กองบรรณาธิการ นิตยสาร Art4D ผมทำงานที่นั่นอยู่สิบกว่าปี ก่อนที่จะออกมารันสตูดิโอเอง นับเป็นสิบกว่าปีที่มีโอกาสพัฒนาตัวเองด้านการถ่ายภาพงานสถาปัตยกรรม อย่างจริงจัง

- คุณเด๋ยถ่ายภาพด้วยกล้อง Large Format มานานหรือยังคะ อะไรเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เริ่มถ่ายภาพคะ

ผมเริ่มใช้กล้อง Large Format จริงจังก็ตอนช่วงปี 2004-2005 ตอนที่ทำงานในกองบรรณาธิการ แต่ผมเริ่มจับกล้องถ่ายภาพจริงๆตั้งแต่ตอน เรียนมัธยมต้น พ่อกับแม่ผมถ่ายภาพเป็นงานอดิเรก เค้าก็สอนเราให้ใช้กล้องพอเป็นความรู้ติดตัว กล้องฟิล์ม 135 ที่พ่อให้ไว้ใช้คือ Nikon FM เก่าๆกับเลนส์ซูม 36-72 มม. พอเข้ามาเรียนมัธยมปลายที่เตรียมฯ ก็ได้เข้าห้องมืดไปหัดล้างฟิล์มขาวดำที่ชมรมถ่ายภาพ ผมเริ่มหัดถ่ายภาพงานสถาปัตยกรรมจริงจังตอนเรียนที่ศิลปากร เพราะมันข้องเกี่ยวกับเรื่องที่เราร่ำเรียนศึกษา จริงจังมากขึ้นก็ตอนไปฝึกงานที่เนเธอแลนด์ กับตอนที่ไปทำงานที่ฟลอริด้า พอมีวันว่าง เราก็จะจัดตารางแบกเป้ไปถ่ายงานอาคารที่ชอบ ซึ่งในช่วงปี 1997-2000 ขณะนั้นจะเป็นช่วงที่งานสถาปัตยกรรมทางฝั่งยุโรปมีความเคลื่อนไหวที่มันมาก มีอาคารสวยๆให้ตามดูเพียบเลย ทั้งหมดที่ว่ามาคือการปูพื้นฐานของสิ่งที่เรากำลังทำ การถ่ายภาพผนวกกับงานสถาปัตยกรรม การทำให้เยอะ ทำให้เรารู้ว่าอะไรเป็นอะไร

- อะไรคือสิ่งที่คุณเด๋ยชอบมากที่สุดในการใช้กล้อง Large Format และคิดว่ามันมีความแตกต่างจากกล้องฟิล์ม 135 หรือ Medium Format อย่างไรบ้างคะ

ตอนถ่ายกล้อง LF ครั้งแรกก็เพราะต้องทำในแง่ของคุณภาพงานสิ่งพิมพ์ เนื่องด้วยภาพนิตยสาร art4d ที่เราทำตอนนั้นมันมีรูปเล่มขนาดใหญ่ เปิดหน้าคู่มาดู ก็จะมีขนาดรวมกันเกือบเท่ากระดาษขนาด A2 ซึ่งถ้าใช้ฟิล์ม 135 ไปยิงขยายภาพก็จะแตก จึงจำเป็นต้องใช้ฟิล์มที่มีขนาดใหญ่เช่น 120 หรือ 4x5 ซึ่งมีความคมชัดสูงมาก แต่สาระสำคัญกว่านั้นก็คือ ในแง่ของการถ่ายภาพงานสถาปัตยกรรม ตัวกล้องมันมีกลไกที่ช่วยควบคุม camera movement ซึ่งช่วยเราแก้ปัญหาเรื่อง perspective correction ได้อย่างแม่นยำ เป็นความแม่นยำที่เรารู้สึกพึงใจมากกว่าระบบเลนส์ tilt shift ที่ใช้กับกล้องดิจิตอลในปัจจุบันอีกนะ อีกเรื่องก็คือความยืดหยุ่นในการใช้งาน ในบางกรณีที่เราไม่จำเป็นต้องใช้ฟิล์มขนาด 4x5 มันก็มี film back ให้เลือกใช้ได้หลายขนาดกับฟิล์ม 120 เช่น 6x7 6x9 6x12 ซึ่งมันก็จะได้ format ที่น่าสนใจแตกต่างกันออกไป

- อะไรคือสิ่งที่ท้าทายมากที่สุดในการถ่ายภาพ Large Format คะ

สำหรับผม ความท้าทายในการใช้กล้อง Large Format คือความมีสติ เนื่องจากระบบทุกอย่างที่มีในกล้อง LF มันคือระบบ Manual ทุกสิ่งอย่าง และมีลำดับขั้นตอนชัดเจน ผิดพลาดขั้นตอนเดียวก็ต้องเริ่มใหม่หมด ตั้งแต่การตั้งกล้อง การปรับตัวกล้องให้อยู่ในตำแหน่ง zero ก่อนที่ตั้งค่า camera movement ให้ได้มุมกล้องที่ต้องการ ไปจนถึงการทำ polaroid test และการยิงฟิล์มจริง ฯลฯ ความท้าทายอีกอย่างหนึ่งก็คือ ความอดทน อดทนที่จะรอ รอให้ตัวอาคารที่เรากำลังจะถ่ายได้อยู่ในช่วงเวลาที่ถูกที่ควร เช่น ตำแหน่งของแสงและเงาที่ทับทาบบนตัวอาคาร หรือรอให้สิ่งที่เราไม่ต้องการให้อยู่ในภาพ ถูกนำออกไปด้วยอะไรบางอย่างที่เราควบคุมมันไม่ได้ เช่น ก้อนเมฆที่ต้องอาศัยแรงลมให้พัดพามันไป หรือผู้คนที่กำลังกรูออกมาจากตัวอาคารเพื่อไปกินข้าวเที่ยง เราต้องรอให้ทุกอย่างผ่านไป เพราะฉะนั้นก่อนที่เราจะออกไปถ่ายภาพก็ต้องมีการวางแผนการทำงานก่อนทุกครั้งเสมอ จะให้ผม Don’t Think, Just Shoot. คงไม่ได้

- อยากให้เล่าถึงกระบวนการทำงานกว่าจะได้มาเป็นภาพงานสถาปัตยกรรมสักภาพต้องมีขั้นตอนอย่างไรบ้างคะ

เรื่องขั้นตอนการทำงาน ถ้าเป็นไปได้ เราก็จะไปสำรวจพื้นที่อาคารที่จะถ่ายก่อน แล้วก็กลับมาวางแผนกัน คุยกันว่าจะถ่ายอะไรบ้าง อาคารนี้มีจุดเด่นตรงไหน สเปซตรงไหนสวย แสงเงาตอนเช้าตอนเย็นเป็นยังไง บางครั้งก็ต้องคุยกับสถาปนิกผู้ออกแบบอาคาร บางครั้งลูกค้าก็จะปล่อยให้เราทำงานกันอย่างอิสระเลย ซึ่งเราจะชอบมาก ถือว่าไว้ใจกัน ทำงานสบายใจ ในยุคที่เราใช้กล้อง LF เราจะมีช่วงเวลาทำงานชัดเจน เช่น ตอนเช้าถ่ายภายนอกอาคารด้านทิศตะวันออก / ตอนสายถ่ายอาคารภายใน / พักเที่ยง / ตอนบ่ายถ่ายอาคารภายใน / ตอนเย็น ถ่ายภายนอกด้านทิศตะวันตก / และจบด้วยภาพ night shot ในกรณีที่ตัวอาคารมี lighting design แต่ปัจจุบัน ลูกค้าส่วนใหญ่ใช้ไฟล์ภาพดิจิตอล กระบวนการทำงานของผมก็ไม่ได้ต่างอะไรกับตอนที่ใช้กล้อง LF มากนัก วิธีคิดเหมือนกัน วิธีทำต่างกันนิดหน่อยด้านเครื่องมืออุปกรณ์ มีการถ่ายภาพหลายภาพมาต่อกันเพื่อเพิ่มความละเอียดและปรับแก้ distortion จากนั้นก็เอาภาพที่ได้ไป stitching แล้วค่อยเอามาทำ post processing เมื่อก่อนตอนใช้กล้อง LF กับ MF ถ่ายเสร็จ เราก็ส่งฟิล์มไปล้างสแกน ทุกอย่างต้องจบหลังกล้อง ต้องมีการถ่ายเผื่อ จำนวนภาพได้ไม่มากแต่ก็พอใช้งาน ความเด็ดขาดมีมากกว่ามาก ทุกวันนี้ถ่ายเสร็จก็เอาไฟล์ไปทำต่อในโปรแกรมแล้วค่อยส่งไฟล์ให้ลูกค้า ได้จำนวนภาพเยอะกว่า บางอย่างไม่ได้จบหลังกล้องก็มาจบกันบนจอ แต่ก็ต้องมีหลักให้ตัวเองว่าจะไม่ทำให้มันผิดเพี้ยน หรือบิดเบือนจากตัวอาคารที่มีอยู่จริง สำหรับผมภาพทุกภาพที่ถ่ายต้องอธิบายได้ รูปนี้ถ่ายไปทำไม และซี่รีย์ของภาพที่ถ่ายจะต้องร้อยเรียงเล่าเป็นเรื่องราวได้ว่าตัวอาคารหลังนี้มันมีคุณค่าอย่างไร

- คุณเด๋ยมีวิธีการฝึกมองภาพงานสถาปัตยกรรม หรือฝึกมุมมองในการถ่ายภาพอย่างไรบ้างคะ

ก็ต้องคิดเสมอว่าการถ่ายภาพงานสถาปัตยกรรมคือการถ่ายวัตถุที่มีขนาดใหญ่มหึมาที่ตั้งอยู่กลางแจ้ง อยู่ในพื้นที่เปิดที่ควบคุมสภาพภูมิอากาศไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราก็เลยต้องหาทางรับมือกับมัน ต้องวิ่งให้ทันแดด ต้องหนีให้ทันฝน ในขณะเดียวกันก็ต้องเป็นคนช่างสังเกต บ่อยครั้งที่เราเดินผ่านอาคารหลังหนึ่งไปโดยไม่เคยสนใจมันเลยว่ามีความสวยงามบางอย่างซ่อนอยู่ เวลาผมไปบรรยาย มักมีคนบอกว่าเราถ่ายงานออกมาแล้วดูสวยกว่าของจริง เราก็จะตอบค้านทันทีเลยว่าไม่ใช่ เหตุผลคือ เพราะเขาไม่เคยได้อยู่กับเราตรงนั้นในเวลาที่เรากดชัตเตอร์ถ่ายรูปนั้น เขาไม่ได้ตื่นตีห้ามารอพระอาทิตย์ให้ส่องแสงผ่านหน้าต่างห้องนอน ที่เราจะต้องถ่าย อะไรแบบนี้ ทุกวันนี้ใครๆก็ถ่ายรูปได้ แต่ศิลปะการถ่ายภาพมันต้องอาศัยความรู้เรื่องความสวยงาม หรือความมีสุนทรียภาพในงานสถาปัตยกรรมด้วยนะ ก็เปิดดูงานเยอะๆ ทำความเข้าใจว่างานแต่ละงานมันมีความดีงามอย่างไร สวยงามอย่างไร และเราจะบันทึกภาพนั้นให้ได้อย่างไร ส่วนตัวผมเองกับเพื่อนๆที่ทำงานด้านนี้อาจจะได้เปรียบตรงที่พวกเราเคยเป็นสถาปนิก เราเข้าใจความคิดของผู้ออกแบบ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนที่ไม่ได้เรียนสถาปัตย์จะถ่ายงานด้านนี้ได้ไม่ดี ไม่จริงเลย

- อยากให้แชร์ภาพสถาปัตยกรรมจากกล้อง Large format ที่ชอบที่สุดค่ะ

ผมชอบภาพ façade อาคารบ้าน TEN HOUSE ที่มีนบุรี ซึ่งผมถ่ายไว้ช่วงปี 2006 ออกแบบโดย CASE STUDIO บ้านหลังนี้มีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมาย แนวคิดของการเกิดขึ้นมาของบ้านหลังนี้ในยุคนั้นถือว่าล้ำมากๆ เป็นบ้านในอุดมคติที่ถูกออกแบบโดยสถาปนิก ”ชนชั้นกลาง” สิบคนที่เป็นเพื่อนกัน และต้องการบ้านของแต่ละคนที่อยู่ด้วยกันสิบหลัง แต่ละหลังมีรูปแบบต่างกันความต้องการของแต่ละคน ผมทำบทความเรื่องบ้านหลังนี้มาตั้งแต่ยังเป็นโมเดลจนกระทั่งสร้างเสร็จ บ้านหลังนี้ได้รับการยอมรับในวงการออกแบบสถาปัตยกรรมอย่างมากทั้งในและต่างประเทศ ด้วยแง่มุมของแนวคิด การออกแบบ การก่อสร้าง แต่ไม่ประสบความสำเร็จในการใช้งานสำหรับการอยู่ร่วมกันตามความตั้งใจแรก เพราะเรื่องราวของผู้คน (people) อยู่เหนือความคาดหมายกว่าเรื่องของตัวสถานที่ (place) มากนัก ทุกวันนี้ TEN HOUSE มีสภาพทรุดโทรมลงไปเยอะ ภาพนี้ที่ผมถ่ายไว้แสดงให้เห็นสภาพในวันที่มันยังมีความไฉไลอยู่ ผมเคยเห็นมันมากับตา และบันทึกมันไว้ด้วยกล้องที่ดีที่สุดที่ผมมี แค่นี้ก็มีความสุขแล้ว

- คุณเด๋ยคิดว่างานสถาปัตกรรมในเมืองไทยกับในต่างประเทศมีเสน่ห์แตกต่างกันอย่างไรบ้างคะ

ในการออกแบบงานสถาปัตยกรรม ผมจะรู้สึกประทับใจในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งที่ถูกสร้างขึ้น ซึ่งก็คือตัวงานสถาปัตยกรรม กับความเป็นถิ่นที่ที่มีอยู่เดิมตรงนั้น เพราะฉะนั้น เสน่ห์ของงานสถาปัตยกรรม ไม่ว่าจะอยู่ในเมืองไทยหรือในต่างประเทศ ถ้างานที่ถูกสร้างขึ้นมีความเหมาะเจาะพอดีกับพื้นที่ตั้ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรูปแบบ การใช้งาน ไปจนถึงเทคโนโลยี ผมว่ามันมีเสน่ห์ในตัวมันเองทั้งนั้นครับ

- มีคำแนะนำสำหรับผู้ที่อยากจะลองใช้กล้อง Large format เป็นครั้งแรกมั้ยคะ

คำแนะนำสำหรับคนที่สนใจจะลองใช้กล้อง Large Format ในยุคนี้ ก็คงจะต้องบอกกันว่าเวลาใช้ก็ให้ใจเย็นๆ กล้อง Large Format เป็นระบบกล้องที่ต้องใช้สมาธิ และมีพฤติกรรมการกดชัตเตอร์แบบ shoot slow คนใจร้อนคงต้องฝึกจิตกันหน่อย แต่คุ้มนะ เมื่อแลกกับ mood ของภาพที่ได้มา แล้วก็อุปกรณ์กล้องมือสองราคาย่อมเยามากกว่าเมื่อก่อนเยอะครับ ค่อยๆหา ใจเย็นๆ ในส่วนของฟิล์มยังพอหาได้อยู่ ทั้งฟิล์ม negative และฟิล์ม instant ในส่วนของร้านที่รับล้างฟิล์ม 4x5 ยังพอหาได้ อาจจะต้องรอคิวหน่อย อื่นๆก็ไม่มีอะไร ตั้งกล้องให้ตรง แล้วบรรจงกตชัตเตอร์เบาๆ

- สุดท้ายแล้ว อยากให้คุณเด๋ยฝากผลงานหรือโปรเจกต์ที่กำลังจะเกิดขึ้น และช่องทางการติดต่อได้เลยค่ะ

ช่วงก่อนที่โควิด 19 ระบาด ผมกำลังเตรียมเดินทางไปช่วยอาจารย์บุญเสริม เปรมธาดา จัดงานนิทรรศการใน Thai Pavilion ที่งาน Venice Biennale 2020 ผมดูแลงานในส่วน photo essay ทั้งหมด ซึ่งตอนนี้ก็ถูกเลื่อนไปจัดกันเดือนพฤษภาคมปีหน้า สองเดือนหลังจากเบียนนาเล่ผมมีโครงการจะทำนิตยสาร Spaceshift Journal เป็นนิตยสารภาพถ่ายงานสถาปัตยกรรม ซึ่งก็ถูกเลื่อนตามไปเหมือนกัน ส่วนช่วงนี้ก็กำลังเตรียม curate งานนิทรรศการชื่อ Architects’ Houses ที่ห้องแสดงงานในโครงการ MINOBURI ก็คิดว่าช่วงปลายปีนี้ ถ้าไม่มีอะไรติดขัดก็น่าจัดได้ เป็นนิทรรศการเกี่ยวกับบ้านของสถาปนิกประมาณสิบกว่าคนที่เพิ่งสร้างเสร็จในช่วงนี้ อยากให้มาชมกันครับ ส่วนตัวอย่างผลงานภาพถ่ายงานสถาปัตยกรรมของผมก็พอมีอยู่ใน Website อาจจะไม่ค่อยอัปเดตเท่าไหร่ แต่ก็ยังมีงานที่ถ่ายด้วยฟิล์ม 4x5 และ 120 ให้ดูอยู่ งานที่อัปเดตหน่อยก็ขอเชิญไปชมกันได้ใน Fackbook หรือ Instagram ของ Spaceshift เลยครับ ขอบคุณมากๆครับผม

เขียนโดย aomschll เมื่อ 2020-08-28 ในหมวด

บทความที่น่าสนใจอื่นๆ