วิธีการล้างฟิล์มด้วยน้ำยา C41 ที่บ้านของคุณเอง

3

หลังจากการถ่ายภาพด้วยกล้องฟิล์มอย่างไม่หยุดหย่อนมาเป็นเวลาสองปี และเสียเงินไปกว่า $1000 เป็นค่าล้างฟิล์มและอัดภาพ ผมก็ต้องมาคิดทบทวนเรื่องค่าใช้จ่าย แล้วก็หาทางที่จะทำให้ผมถ่ายรูปได้มากขึ้นและเสียค่าใช้จ่ายน้อยลง แล้วผมก็เริ่มเรียนรู้การล้างฟิล์มด้วยตนเองที่บ้าน มันง่ายมากเลยทีเดียว ผมจะแสดงให้คุณดูทีละขั้น

เครดิต: maxwellmaxen

วันนี้ผมจะแสดงให้คุณเห็นว่าการล้างฟิล์มด้วยตนเองที่บ้านนั้นง่ายดายเพียงใด ประการแรก นี่คือสิ่งที่คุณจำเป็นต้องมี หลังจากเสียเงินไปเล็กน้อยกับสิ่งเหล่านี้ในครั้งแรก คุณก็แทบจะไม่ต้องเสียค่าอะไรเพิ่มเติมอีกเมื่อทำการล้างฟิล์มที่บ้านตัวเอง:

- แทงค์ล้างฟิล์ม (หลายคนเลือกใช้ Jobo Tanks แต่ผมซื้อของ AP เพราะว่ามันถูกกว่า)
- กรรไกร
- ถุงขยะ (หรือถุงแบบอื่นๆ ที่มีขนาดพอเหมาะและไม่มีฝุ่นอยู่ข้างในนั้น)
- ฟิล์มที่คุณต้องการจะล้าง
- อุปกรณ์ตวง
- กรวย
- ชุด Tetanal C41 Rapid Kit (โดยมีทั้งที่เป็นแบบน้ำยาและแบบผงที่ผสมออกมาได้เป็นน้ำยาตั้งแต่ 1 ถึง 5 ลิตร ผมว่าแบบที่เป็นน้ำยามาเลยน่าจะใช้ง่ายกว่า แต่ก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน เพราะผมเคยใช้อยู่แค่นี้)
- ขวดใส่น้ำยา (ผมมีแบบพลาสติกแต่ผมว่าซื้อขวดแก้วแบบ 500 มล. จะดีกว่าเพราะมันหนักกว่า)
- เทอร์โมมิเตอร์
- เครื่องปรับอุณหภูมิน้ำ (aquarium heater)
- เครื่องจับเวลา (ผมใช้มือถือเพราะมือถือทุกเครื่องก็มีตัวจับเวลา)
- แทงค์ใส่น้ำขนาดใหญ่พอที่คุณจะสามารถใส่ขวดสามใบ แล้วก็แทงค์ล้างฟิล์มลงในนั้นได้)

โอเค ประการแรกเลย สิ่งที่คุณต้องรู้ก็คือว่าน้ำยา C41 เป็นน้ำยาที่ใช้ล้างแบบ Norm Process ซึ่งหมายความว่าฟิล์มทุกชนิดไม่ว่าจะเป็น ASA ใดก็ตาม ล้วนแต่ใช้เวลาในการ process เท่ากัน ซึ่งมันจะช่วยเวลาที่คุณต้องการล้างฟิลม 2 ม้วนที่มีความไวแสงต่างกันพร้อมกัน จริงๆ แล้วมีวิธีการล้างฟิล์มด้วยน้ำยา C41 หลายวิธี โดยวิธีมาตรฐานคือล้างที่อุณหภูมิ 38°C แต่ผมมองว่ามันร้อนเกินไป และยังมีการล้างที่อุณหภูมิ 45°C ซึ่งเป็นการล้างฟิล์มอย่างเร็ว และแบบ 30°C ที่เป็นการล้างแบบช้า ผมจะแสดงวิธีการล้างด้วยอุณหภูมิที่ 30°C เพราะด้วยวิธีนี้คุณจะสามารถควบคุมอุณหภูมิได้อย่างง่ายดายเพราะมันจะไม่เร็วจนเกินไปนัก

ประการต่อมา น้ำยาจะอ่อนแรงลงค่อนข้างเร็ว ซึ่งหมายความว่ายิ่งคุณใช้น้ำยานี้ล้างฟิล์มมาก่อนหน้ามากเท่าใด คุณก็จะต้องใช้เวลามากขึ้นเท่านั้น แต่อย่ากังวลไป เพราะว่าในชุดน้ำยา Tetanal จะมีคู่มือแนบมาด้วยและจะบอกคุณอย่างชัดเจนถึงเวลาที่ใช้ในการ process

ประการที่สาม พยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้น้ำยาของคุณสัมผัสกับอากาศ เพราะว่ามันจะเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่นและเสียเร็วขึ้นหากคุณเปิดฝาขวดทิ้งไว้ คุณจะสามารถชะลอการเกิดขึ้นของมันได้ด้วยการใช้ Tetanal Protectan Spray ซึ่งจะเป็นสเปรย์ที่ทำให้เกิดชั้นฟิล์มบางๆ ที่เป็นก๊าซ (ที่มีความหนักกว่าอากาศแต่เบากว่าน้ำ) อยู่ที่ผิวหน้าของน้ำยาของคุณ โดยจะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบใดๆ ต่อกระบวนการ process

ทีนี้มาเริ่มกันตั้งแต่แรกเลย

ผสมน้ำยาของคุณ ผมใช้น้ำยาปริมาณ 500 มล. ซึ่งหมายความว่าผมสามารถจะเก็บชุดน้ำยาปริมาณ 1 ลิตรไว้ได้นานกว่าปกติหนึ่งเท่าตัว ให้คุณผสมมันตามคู่มือที่แนบมากับชุด แล้วเทน้ำยาแต่ละส่วน (ต่อไปนี้จะขอใช้ตัวย่อ CD สำหรับ Color Developer, BX สำหรับ Bleach/Fix และ Stab สำหรับ Stabilisator) ลงในขวด ปิดฝาแล้วเขียนชื่อติดไว้ นำทุกอย่างใส่ลงในแทงค์น้ำ และใส่เทอร์โมมิเตอร์พร้อมกับเครื่องปรับอุณหภูมิ (aquarium heater) ลงไปด้วย แล้วเทน้ำอุ่นใส่ลงไปในแทงค์ การควบคุมอุณหภูมิของน้ำในจุดนี้เป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก เพราะว่ามีผลอย่างยิ่งต่อการ process

คุณอาจจะต้องรอสักพัก จนกระทั่งน้ำอยู่ที่อุณหภูมิ 30°C หลังจากได้ลองทำไปไม่กี่ครั้ง คุณจะสามารถรู้ได้ว่ามันจะต้องมีความอุ่นประมาณไหน และคุณจะสามารถเทน้ำยาได้ในช่วงอุณหภูมิที่พอเหมาะ คุณจะสามารถเร่งความเร็วของกระบวนการนี้ได้โดยการเติมน้ำร้อนหรือน้ำเย็นลงไป แต่สำหรับผมแล้ว ผมชอบให้มันค่อยๆ ร้อนขึ้นเองด้วยการใช้ตัวปรับอุณหภูมิ

ใส่ฟิล์มของคุณลงในแทงค์ล้างฟิล์ม ให้คุณหยิบกรรไกร ฟิล์ม แล้วก็แทงค์ เอาพวกมันใส่ลงในถุงขยะ แล้วเอาถุงขยะดังกล่าวไปไว้ใต้ผ้าห่มบนเตียงของคุณ ผมใช้แต่ถุงขยะอย่างเดียวเท่านั้นเพราะมันทำให้ผมมั่นใจได้ว่าในถุงจะไม่มีฝุ่นอยู่ คุณอาจจะไม่ต้องการใช้มัน แต่ผมคิดว่าเอาให้มั่นใจดีกว่ามาเสียใจทีหลัง และดังที่คุณรู้ว่าในขั้นตอนนี้ห้ามให้ฟิล์มโดนแสงสว่าง ผมจะไม่อธิบายขั้นตอนทั้งหมดเพราะว่ามันมีเว็บที่สอนวิธีการดังกล่าวมากมายอยู่แล้วให้คุณเลือกดูได้ เอาเป็นว่าหลังจากคุณโหลดฟิล์มเสร็จแล้ว ให้นำแทงค์ล้างฟิล์มใส่ลงไปในน้ำเช่นเดียวกัน

เราจะข้ามขั้นตอนที่คุณจะต้องรอจนกว่าจะได้อุณหภูมิที่เหมาะสม ซึ่งสามารถใช้เวลาได้ตั้งแต่ไม่กี่นาทีไปจนถึงชั่วโมง ขึ้นอยู่กับว่าคุณเทน้ำที่ร้อนขนาดไหนลงไป จากนี้เราจะเริ่มกระบวนการ process ฟิล์มกันจริงๆ แล้ว

คุณจะต้องมีคู่มืออยู่ข้างกาย เพื่อที่คุณจะสามารถเช็คได้เสมอว่าคุณจะต้องใช้เวลาในการ process แต่ละส่วนนานขนาดไหน

ประการแรกให้เทน้ำยา CD ลงในแทงค์ โดยเริ่มจับเวลาตั้งแต่คุณเทมันลงไป ปิดแทงค์แล้วเอากรวยใส่ลงไปในขวด นำแทงค์ใส่กลับลงไปในน้ำและคนมันไปทั่วๆ ช้าๆ คุณสามารถหมุนมันได้ด้วยเช่นกัน ให้ทำเช่นนี้ไปตลอด โดยการทำเช่นนี้จะทำให้คุณใช้น้ำยาได้อย่างทั่วถึง ไม่ใช่แค่ส่วนที่อยู่ใกล้กับฟิล์มของคุณเท่านั้น นอกจากนี้มันจะยังช่วยให้น้ำในแทงค์มีการหมุนเวียนและมีอุณหภูมิที่สม่ำเสมอกัน เพราะตัวปรับอุณหภูมิจะไร้ประโยชน์ไปทันทีหากมันทำให้น้ำอุ่นขึ้นได้แค่บริเวณรอบๆ ตัวมันเท่านั้นในขณะที่น้ำส่วนอื่นๆ ในแทงค์ยังเย็นอยู่ และก่อนหมดเวลา 10 วินาที ให้เริ่มเทน้ำยา CD คืนลงในขวด วางแทงค์ลง ปิดฝาขวด แล้วนำมันกลับมาใช้หากคุณต้องการล้างฟิล์มม้วนถัดมาหรือเก็บมันเอาไว้คราวหน้า

จากนั้นให้เทน้ำยา BX ลงไปแล้วทำเช่นเดียวกับขั้นตอนก่อนหน้า เมื่อคุณเทน้ำยา BX กลับลงไปในขวดแล้ว คุณจะต้องเปิดน้ำอุ่นให้ไหลผ่านฟิล์มประมาณ 6 นาที โดยปกติแล้วผมจะล้างฟิล์มด้วยวิธีนี้ เทน้ำใส่แทงค์ เขย่ามันกลับไปกลับมา 10 ครั้ง เทน้ำออก แล้วทำซ้ำอีกครั้ง ผมมักจะทำเช่นนี้ติดต่อกัน 12 ครั้งเพราะการทำแต่ละครั้งจะใช้เวลาประมาณ 30 วินาที หลังจากนี้เป็นเวลาของการใช้น้ำยา STAB แล้ว! ไม่ๆ! คุณไม่ต้องใช้มีดหรือกริชในขั้นตอนนี้หรอก ขอโทษที่ผมเล่นคำพ้องแบบเห่ยๆ นะ! ตอนนี้ให้วางแทงค์ลงบนโต๊ะหรืออะไรก็ตามที่มั่นคงแล้วเทน้ำยา STAB ลงไป ทิ้งมันไว้แบบนั้นประมาณหนึ่งนาที น้ำยา STAB จะเกิดฟองขึ้นเป็นจำนวนมาก ผมไม่ขยับมันเลยเพราะเกรงว่าจะทำให้มีฟองมากขึ้นไปอีก หลังจากหนึ่งนาทีผ่านไป ผมก็เทน้ำยา STAB ออกแล้วนำฟิล์มไปล้างน้ำอีกครั้ง

ตอนนี้คุณสามารถเปิดแทงค์ดูได้แล้ว โดยปกติผมมักจะใส่น้ำยาเคลือบฟิล์มลงไปเล็กน้อย แม้ว่าคู่มือที่มากับ Tetanal Kit ของคุณจะไม่ได้พูดถึงเกี่ยวกับการล้างครั้งสุดท้าย และบางคู่มือก็ยังบอกให้แขวนฟิล์มไว้ให้แห้งแม้จะมีฟองจากน้ำยา STAB เคลือบอยู่ก็ตาม แต่ผมชอบที่จะหยดน้ำยาเคลือบฟิล์มลงไปด้วยมากกว่า

เปิดล้อม้วนฟิล์ม (Reel) แล้วหยิบปลายส่วนเริ่มต้นของฟิล์ม (ที่อยู่ตรงกลาง) ขึ้นแล้วใช้ไม้หนีบ (ผมใช้ไม้หนีบผ้า) แล้วแขวนมันไว้ให้แห้ง โดยปกติแล้วผมจะหนีบไม้หนีบเข้าที่ด้านล่างฟิล์มอีก 2 ตัวเพื่อให้ฟิล์มยืดตรง

จากนี้คุณก็สามารถล้างอุปกรณ์การ process ทุกอย่างแล้วปล่อยให้แห้ง ซึ่งคุณต้องทำให้แน่ใจว่ามันแห้งแล้วจริงๆ เพราะคุณคงไม่อยากให้มีเศษแคลเซียม (ซึ่งเป็นผลมาจากการใช้น้ำกระด้าง) หลงเหลืออยู่ในแทงค์ของคุณหรอกนะ เพราะมันอาจจะเป็นผลเสียต่อการล้างฟิล์มม้วนถัดไปของคุณได้ และคุณสามารถเป่าลมเร่งให้ฟิล์มเนกาทีฟของคุณแห้งได้หากต้องการ หรือไม่ก็ทิ้งเอาไว้สักสองชั่วโมง หลังจากนั้นก็ตัดมันแล้วก็ใส่ลงในซองแล้วทับไว้สักสองสามชั่วโมง (เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด) หรือคุณอาจจะนำมันไปสแกนทันทีเลยก็ย่อมได้

ผมรู้ว่าวิธีนี้ไม่ใช่วิธีที่สะอาดที่สุดหรือเป็นมืออาชีพมากที่สุด แต่มันเป็นวิธีที่ตรงกับความต้องการของผมมากที่สุด สิ่งที่ผมค้นพบในภายหลังก็คือคุณจะต้องทาโลชั่นที่มือของคุณหลังจากล้างฟิล์มเพราะว่าน้ำยาจะทำให้ผิวของคุณแห้งมากทีเดียว ตอนหลังผมเริ่มที่จะสวมถุงมือยางที่จะช่วยเก็บความชื้นของผิวคุณเอาไว้

ผมหวังว่าสิ่งนี้คงจะช่วยคุณได้บ้าง หรืออย่างน้อยก็ช่วยคุณในการตัดสินใจว่าคุณต้องการจะขยับตัวเองไปที่ขั้นถัดไปแล้วหรือยัง อย่างไรก็ตามมันเป็นหนึ่งในวิธีที่จะประหยัดเงินได้ดีมากและช่วยในการเรียนรู้เกี่ยวกับฟิล์มของคุณได้มากขึ้น และแน่นอน มันเป็นข้ออ้างชั้นดีในการจะใช้เวลาไปกับการถ่ายภาพให้มากขึ้น

หากคุณมีอะไรที่อยากจะเพิ่มเติมหรือมีคำถามอะไรแล้วล่ะก็ เชิญโพสต์ลงในช่องคอมเมนท์ข้างล่างนี้ได้เลย ผมจะพยายามช่วยพวกคุณทุกคนเอง!

แล้วก็ขอขอบคุณ ck_berlin เป็นอย่างมากที่คอยช่วยเหลือผมก่อนหน้านี้ สำหรับวิธีการล้างฟิล์มแบบอื่นๆ ให้ไปอ่านได้ที่ Flickr tutorial

และนี่คือตัวอย่างบางส่วนของฟิล์มที่ผมล้างเองที่บ้าน:

เครดิต: maxwellmaxen

ข้อมูลอื่นๆ อีกเล็กๆ น้อยๆ: ผมล้างฟิล์มไป 12 ม้วนต่อน้ำยา 500 มล. ซึ่งแทบมากกว่าที่เขียนไว้บนสลากเกือบเท่าตัว ดังนั้นสำหรับน้ำยาจำนวน 1 ลิตรแล้วคุณจะล้างฟิล์มได้ทั้งหมด 25 ม้วน แทนที่จะได้แค่ 16 ม้วน

เขียนโดย maxwellmaxen เมื่อ 2012-04-21 ในหมวด #gear #คำแนะนำ #diy #c41 #tutorial #tipster #development #xpro #select-type-of-tipster #select-what-this-tipster-is-about #home-process #tetanal

3 ความคิดเห็น

  1. alinaleen
    alinaleen ·

    อ่านแล้ว งงๆ ผมมือไหม่อะคับ อยากไห้มีการสอน หรือWork Shop แบบนี้จังคับ

  2. kokakoo
    kokakoo ·

    อาจจะต้องเริ่มที่ล้างฟิล์มขาวดำก่อนครับ เพราะจะง่ายกว่านี้ ส่วนฟิล์มสีจะจุกจิกพอสมควร ส่งแล็ปจะสะดวกกว่าครับ

  3. 080488
    080488 ·

    ค่าอุปกรณ์ประมาณเท่าไรครับ

บทความที่น่าสนใจอื่นๆ