ภาพถ่ายระลึกถึง 'รงค์ วงษ์สวรรค์ ในเงาเวลาของความเป็นพญาอินทรีแห่งสวนอักษร

เรื่องราวเกี่ยวกับการถ่ายภาพเรื่องราวส่วนตัว แสดงความคิดเห็นส่วนตัว เพื่อแสดงความเคารพและคาราวะต่อ พญาอินทรีแห่งสวนอักษร – ’รงค์ วงษ์สวรรค์

เครดิต: dakadev_pui

1
นับตั้งแต่ วันที่ 15 มี.ค 2552 ที่ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ พญาอินทรีแห่งสวนอักษรขยับปีกโบยบินขึ้นไปจิบไวน์บนสวรรค์ ญาติน้ำหมึก รวมถึง มิตรรักแฟนนักอ่าน ต่างคิดถึงถ้อยคำสำนวน เพรียวนม ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของอาว์ ’รงค์ เสมอมา

และด้วยเป็นเวลาเกือบ 4 ปีที่แล้ว ที่ความตายพรากอาว์’รงค์ ไปจากญาติน้ำหมึก แต่ผลงานที่อาว์’รงค์เคยกระแทกแป้นพิมพ์ดีดทิ้งรอยน้ำหมึกไว้เมื่อวันมีลมหายใจยังคงอยู่ และเป็นแรงบันดาลใจให้คนอยากเขียนหนังสืออีกหลายชีวิต รวมถึงแรงบันดาลใจด้านอื่นๆด้วย ไม่เว้นแม้แต่ตัวผมเองที่ได้รับอิทธิพลจากอาว์ ’รงค์ในหลายๆเรื่องในชีวิต อาทิ การใช้ชีวิต การทุ่มเทให้กับสิ่งที่รัก รวมถึงการให้เกียรติเพื่อนร่วมโลกทุกๆคนอย่างเท่าเทียม…

หากใครที่ยังไม่รู้จัก อาว์ ‘รงค์ พญาอินทรีแห่งสวนอักษรที่ใครหลายคนเชื่อว่า หนึ่งร้อยปีจะมีแบบนี้สักคน ผมขออนุญาตตัวเองสรุปความหนึ่งย่อหน้าว่า อาว์ ’รงค์ เกิด 20 พ.ค. 2475 ที่ตำบลคลองมะขามเฒ่า ชัยนาท โดยชีวิตวัยเด็ก ของอาว์’รงค์ อาศัยอยู่กับยายที่โพธาราม ราชบุรี เพราะพ่อต้องออกไปทำงานตามป่าเขา จากนั้นอาว์เข้าเรียนโรงเรียนอำนวยศิลป์ รุ่นลมหวน มีเพื่อนร่วมรุ่น เช่น พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ จากนั้นเข้าเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา มีผลการเรียนดี แต่ถูกให้ออกเพราะทะเลาะกับครู เมื่อออกจากโรงเรียนแล้ว อาว์ ‘รงค์ ก็ไปใช้ชีวิตท้าทายกับความโลดโผน เป็นนายท้ายเรือโยง,เคยขึ้นไปอำเภอฝาง เชียงใหม่ เป็นคนคุมปางไม้ จากนั้นจุดผลิกผันคืออาว์’รงค์ ได้พบกับ ม.ล.ต้อย ชุมสาย ศิลปินทางการถ่ายภาพนู้ดของไทย ทำให้ อาว์’รงค์ ได้เรียนการถ่ายภาพจาก ม.ล.ต้อย และเป็นผู้พาไปรู้จักคนในวงหนังสือพิมพ์ กระทั่งได้เข้าทำงานที่หนังสือพิมพ์สยามรัฐ พ.ศ. 2497 และนี่คือจุดสำคัญที่ทำให้อาว์เริ่มผลิตงานเขียน ร่วมถึงได้ทำงานร่วมกับหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช

เครดิต: dakadev_pui

2
จากถ้อยคำอมตะของอาว์’รงค์ วงษ์สวรรค์ อาทิ “ผมกลัวจนและไม่กลัวรวย ผู้ชายที่ทำงานย่อมมีรางวัลในหัวใจ”
“ผมรู้สึกว่าชีวิตมนุษย์ไม่ควรอยู่กับที่”
“เราก็เป็นเรา ผู้ต่างยืนอยู่บนตีนของเราซิ”

รวมกับความเป็นขบถในหัวใจ และความ “ดื้อ” ที่ไม่ได้แปลว่าความไม่มีสัมมาคารวะ ไม่เชื่อฟังผู้ใหญ่ เพราะความหมายที่แท้จริงมันกินความมากกว่านั้น ดื้อ ในที่นี้คือ มีความคิดเป็นของตัวเอง ไม่ยี่หระกับคำพูดหรือสายตาคนรอบข้าง รักที่จะทดลอง ไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ ทำให้ อาว์’รงค์ ผลิตงานออกมากว่า 100 ปกในรอบเกือบ 40 ปี ซึ่งผลงานและการใช้ชีวิตของอาว์ได้กลายเป็นแรงผลักดันในชีวิตให้กับใครหลายคน

แม้ผลงานเขียนของอาว์’รงค์จะเป็นที่ประจักษ์แก่วงการวรรณกรรมไทย แต่อีกแง่มุมหนึ่งที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยทราบกันนักก็คือ ‘อาว์ รงค์ วงษ์สวรรค์ เป็นคนทำงานถ่ายภาพที่หาตัวจับยากคนหนึ่ง และหลังจากที่พญาอินทรีแห่งสวนอักษรทำความรู้จักกับชีวิตหลังความตาย ก็มีคนที่ยังรัก ยังศรัทธาในตัวอาว์’รงค์ นำผลงาน ภาพถ่าย ออกมาจัดนิทรรศการเพื่อเป็นการเผยแพร่อีกแง่มุมหนึ่งของการทุ่มเทแรงงานแห่งความรักลงไปในชีวิต

เครดิต: dakadev_pui

3
และด้วยความระลึกถึงอาว์’รงค์ วงษ์สวรรค์-ผู้ชายที่อยากหยุดชีวิตตัวเองไว้ที่ 28 พร้อมกับวงเล็บเพิ่มว่า (หนุ่ม) ต่อท้ายชื่อ ผมขออนุญาตตัวเอง ถ่ายภาพจำนวนหนึ่ง ตามคำจำกัดความ biographical narrative ซึ่งเป็นคำจำกัดความที่ใช้เรียกภาพถ่ายประเภทเรื่องราวส่วนตัว หรือ ภาพถ่ายที่สะท้อนแนวคิด-ความรู้สึก ที่เป็นเรื่องราวส่วนตัวมากๆ ลงไปในภาพถ่าย

บนความเห็นส่วนตัว ผมว่าการถ่ายภาพด้วยกล้องฟิล์มทุกวันนี้ มันก็มีความเป็น “ขบถ” อยู่เล็กๆ เพราะหันไปทางไหนก็เจอแต่กล้องที่ถ่ายสะดวกรวดเร็วทันใจหมดแล้ว ตามวิถีของโลกที่มันหมุนไป

ดังนั้น ผมคิดว่า การถ่ายภาพด้วยกล้องฟิล์มชุดนี้ น่าจะเป็นแสดงความเคารพ คารวะครูทางความคิดอย่าง อาว์ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ได้อย่างตรงไปตรงมา ที่สุด

ด้วยความระลึกถึงความขบถทางความคิด ของ อาว์’รงค์ วงษ์สวรรค์…

เครดิต: dakadev_pui

เขียนโดย dakadev_pui เมื่อ 2013-03-03 ในหมวด #lifestyle #dakadev_pui-thailand

บทความที่น่าสนใจอื่นๆ