รวมเรื่องสั้นช่อการะเกด - หนังสือสบสังวาสสโมสร

5

ความอาลัยต่อหนังสือช่อการะเกดกลายเป็นยาสั่งให้ผมถ่ายภาพทุกเล่มเก็บไว้เป็นเครื่องเตือนใจ ว่าครั้งหนึ่ง เราศรัทธาว่าอำนาจวรรณกรรมเปลี่ยนชีวิตได้!

เครดิต: dakadev_pui

สบ แปลว่า “พบกัน” , “ประสมเข้าด้วยกัน”
สบสังวาส แปลว่า “อยู่ร่วมกัน”
สโมสร แปลว่า “ที่ชุมนุมกัน” “ที่มารวมกัน”
สบสังวาสสโมสร จึงแปลว่า ที่มาชุมกัน เพื่อรวมกัน….(ทำงานเขียนงานประพันธ์ ในบริบทนี้)

ข้อความย่อหน้าข้างบนคือคำจำกัดความคำว่า “สบสังวาสสโมสร” ของสิงห์สนามหลวง หรือ สุชาติ สวัสดิ์ศรี ที่ให้ไว้กับคำๆนี้ ในหนังสือ ช่อการะเกด 9 – สบสังวาสสโมสร ซึ่งเขาเป็นบรรณาธิการหนังสือเล่มนี้กินเวลา 3 ทศววรษ

ณ ย่อหน้านี้ ขอคารวะให้กับความสวยงามภาษา ซึ่งสิงห์สนามหลวงคิดไว้อย่างสลักสลวยบรรจง

ใช่!…สบสังวาสสโมสร น่าจะเป็นคำจำกัดความได้เป็นอย่างดี สำหรับหนังสือต่อเนื่อง (Pocket magazine) ที่ชื่อว่า ‘ช่อการะเกด’ หนังสือรวมเรื่องสั้นที่ผมโปรดปราน จนต้องปลูกความปรารถนาไว้บนหน้ากระดาษทุกๆเล่ม

หนังสือช่อการะเกด ถือเป็นแหล่งบ่มเพาะนักเขียนวรรณกรรมไทย ที่มีชื่อเสียงมากมาย – ชาติ กอบจิตติ, วินทร์ เลียววารินทร์, เดือนวาด พิมวนา, วิมล ไทรนิ่มนวล, มาลา คำจันทร์ และกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ เป็นอาทิ

สมควรแล้วที่หนังสือชุดนี้จะจำกัดความหมายไว้ว่าเป็นแหล่ง “สบสังวาสสโมสร” อันเลื่องลือ (ตามความเห็นส่วนตัวของผม)

เครดิต: dakadev_pui

หนังสือช่อการะเกดเดินทางสู่อ้อมกอดนักอ่านอย่างต่อเนื่อง โดยเล่มแรกวางแผงเมื่อพฤษภาคม 2521 ถึงเล่มสุดท้าย ลำดับที่ 55 ฉบับตีพิมพ์ที่สันปกว่า มกราคม-มีนาคม 2554

33 ปี!

อย่างไรก็ตาม หนังสือช่อการะเกดมีอาการกะพร่องกะแพร่ง-กะปลกกะเปลี้ย-กะปริบกะปอย และ กะเผลก อยู่บ้าง เพราะต้องเว้นวรรคตีพิมพ์หลายครั้ง

ครั้งแรก จากเล่ม 4 (กันยา 2523) ต่อเล่ม 5 (ตุลา 2532 ) – 9 ปีเต็ม! และครั้งที่ 2 ที่ต้องเว้นวรรค คือจาก เล่ม 41 (มกรา 2542) สู่เล่ม 42 (ตุลา 2550) – เกือบ 8 ปี!

ก่อนที่จะลาครั้งล่าสุด ครั้งที่ 3 ในฉบับมกราคม-มีนาคม 2554

เครดิต: dakadev_pui

ทวนเข็มนาฬิกากลับไปบนความหนุ่ม ผมบังเอิญสบตากับหนังสือช่อการะเกดเล่มหนึ่งในร้านหนังสือเก่าเมื่อประมาณปี 2547 และด้วยความชื่นชอบ (อาจจะถึงขั้นคลั่งไคล้) ผลักหลังให้ผมศึกษาประวัติความเป็นมาของหนังสือชุดนี้ จนกระทั่งผ่านไป 4 ปี ผมตามเก็บหนังสือเล่มที่เคยตีพิมพ์ ณ เวลานั้นจนครบถ้วน และมาตามอ่านต่อในยุคหลัง

ปัจจุบัน ช่อการะเกดหย่าขาดจากตีพิมพ์ฉบับใหม่แล้ว นับตั้งแต่เล่มลำดับที่ 55 และ ความอาลัยต่อหนังสือชุดนี้กลายเป็นยาสั่งให้ผมถ่ายภาพทุกเล่มเก็บไว้เป็นเครื่องเตือนใจ ว่าครั้งหนึ่ง ผมเชื่ออย่างศรัทธาว่า อำนาจวรรณกรรมเปลี่ยนชีวิตได้!

เพราะอย่างน้อยก็มีผมคนหนึ่งที่ได้รับอิทธิพลงานศิลปะแขนงนี้ และพลังอำนาจของมันยังแพร่ขยายไปยังศิลปการด้านอื่นๆ เช่น การถ่ายรูป…ฯลฯ

ความเศร้าเสียดายแทรกซึมอยู่ในความรู้สึกของผมที่หนังสือชุดนี้ต้องยุติบทบาทตัวเอง

ผมได้แต่แอบหวังลึกๆว่าช่อการะเกดจะกลับคืนสู่อ้อมแขนนักอ่านอย่างผมอีกครั้งหนึ่ง เหมือนกับ ชื่อเล่มลำดับที่ 55 เขียนไว้

จนกว่าจะพบกันใหม่ – ลาที แต่มิใช่ลาก่อน

ใช่!…จนกว่าจะพบกันใหม่ – ช่อการะเกด

เครดิต: dakadev_pui

เขียนโดย dakadev_pui เมื่อ 2012-10-15 ในหมวด #lifestyle #dakadev_pui-lca-thailand

5 ความคิดเห็น

  1. hhjm
    hhjm ·

    ขอเฝ้ารออ่านลำดับที่ 56 ด้วย ..........( ถึงแม้จะเป็นคนไม่ชอบอ่าน )

  2. dakadev_pui
    dakadev_pui ·

    @hhjm พี่จี๊ดครับ ผมก็ลุ้นให้มีคนในแวดวงเรื่องสั้นวรรณกรรมไทย จุดประกายให้รวมเรื่องสั้นลักษณะแบบนี้กลับมาครับ ที่ผ่านมา เคยเว้นวรรค 8 ปีบ้าง 9 ปีบ้าง ก็ยังกลับมาได้ ก็หวังว่าคราวนี้หาก 10 ปีก็น่าจะรอไหวครับ : ) (ฮา)

  3. hhjm
    hhjm ·

    @dakadev_pui รอไหวครับอีก 10 ปี แต่พี่คงต้องพึ่งอุปกรณ์ช่วยอ่าน 555

  4. modern_nmt
    modern_nmt ·

    ภาพประกอบเด็ดมาก เหมือนอาซ้อจะหลับคาหนังสือนะ 555

  5. dakadev_pui
    dakadev_pui ·

    @modern_nmt หนังสือเป็นยานอนหลับ ที่ไม่มีผลต่อความเสื่อมโทรมของร่างกาย : )

บทความที่น่าสนใจอื่นๆ